วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ศึกษาแหล่งการเรียนรู้ ณ สวนสัตว์ดุสิต


สวนสัตว์ดุสิต กรุงเทพมหานคร



สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา (Dusit Zoo) เป็นสวนสัตว์และสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 71 ถนนพระราม 5 แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับสนามเสือป่าและพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเนื้อที่ 118 ไร่

ประวัติความเป็นมา

สวนสัตว์ดุสิต เดิมเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นบริเวณที่ราบด้านตะวันออกของพระราชวังดุสิตตามแบบอย่างของต่างประเทศที่พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตร การก่อสร้างพระราชอุทยานเริ่มด้วยการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เป็นรูปพระราชหัตถเลขา พระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร." ขุดคูคลองระบายน้ำ ทำถนนเชื่อมตัดผ่านจากคลองเปรมประชากรเข้าไปโดยรอบหลายเส้นทาง ดินที่ขุดขึ้นมาได้นำมาใช้ในการถมเนินและปลูกต้นไม้ พระองค์จึงโปรดเรียกที่นี้ว่า "เขาดินวนา"

พระราชอุทยานแห่งนี้ใช้เป็นที่เสด็จประพาส เพื่อทรงเปลี่ยนพระราชอิริยาบถแต่เพียงอย่างเดียว ยังไม่มีการนำสัตว์ชนิดใดมาเลี้ยงไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชอุทยานสวนดุสิตแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งรกร้างเป็นเวลาหลายสิบปี

ใน พ.ศ. 2481 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิตมาจัดตั้งเป็นสวนสัตว์และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเพิ่มเติมจากสวนลุมพินี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ ทั้งยังพระราชทานกวางดาวซึ่งเป็นลูกหลานกวางดาวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากอินโดนีเซียเมื่อครั้งเสด็จประพาสหมู่เกาะชวา พ.ศ. 2451 และสัตว์อื่นอีก 2-3 ชนิด จากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานมาเลี้ยงไว้ในเขาดินวนา และตั้งชื่อสวนสัตว์นี้ว่า "สวนสัตว์ดุสิต"

สวนสัตว์ดุสิตอยู่ในการดำเนินงานของเทศบาลนครกรุงเทพ จนมาถึง พ.ศ. 2497 จึงได้จัดตั้งองค์การสวนสัตว์ขึ้นมาบริหารงานโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีสัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 1,600 ตัว มีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านคน

การเดินทาง

รถประจำทางสาย 18 28 108  รถประจำทางปรับอากาศสาย 528 515 539 542

อัตราค่าเข้าชม

ชาวไทย :
ผู้ใหญ่ 70 บาท ปวส.-มหาวิทยาลัย(ในเครื่องแบบ) 30 บาท เด็กเล็ก-ปวช. 10 บาท ครู ทหาร ตำรวจ(ในเครื่องแบบ) 30 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนพิการ พระภิกษุ สามเณร ชมฟรี
ชาวต่างชาติ :
ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท



ลักษณะของการนำเสนอเนื้อหา

การนำเสนอของสวนสัตว์ดุสิตจะเป็นการเปิดให้ผู้คนเข้าชมสัตว์ต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว สัตว์หายากที่ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ประจำสวนสัตว์แห่งนี้ เช่น ค่างห้าสี  เก้งเผือก แพนด้าแดง (วันนั้นตั้งใจจะไปดูเจ้านี่โดยเฉพาะ แต่เจ้าหน้าที่ดันบอกว่า ตอนนี้กรงปิดปรับปรุง ส่วนตัวมันไม่รู้อยู่ที่ไหน = =)





ซึ่งสัตว์แต่ละอย่างก็จะมีป้ายที่อธิบายถึงชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะ นิสัย การสืบพันธุ์ของสัตว์ชนิดนั้นๆด้วย และยังมีป้ายที่เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับสัตว์แต่ละชนิดอีกด้วยเรียกได้ว่านอกจากเราจะได้ชมสัตว์หายากตัวเป็นๆแล้ว เรายังได้ความรู้ติดตัวไปอีกด้วย และสถานที่นี้นอกจากจะให้ความรู้ต่างๆแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีอีกที่หนึ่งด้วยค่ะ

















นอกจากนี้สวนสัตว์ที่นี่ยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์สัตว์ซึ่งจะแบ่งเป็นโซนต่างๆและเป็นที่จัดแสดงนกเพนกวินด้วย


 ภายในก็จะเป็นการจัดแสดงความรู้ต่างๆ เช่น เรื่องกำเนิดโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ





และยังมีมุมที่จัดแสดงเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และภาพการทารุณกรรมสัตว์ การค้าสัตว์ ที่เป็นการเตือนสติของคนได้เป็นอย่างดี




สัตว์บางชนิดที่นี่ ทางสวนสัตว์ก็มีการให้คนที่เข้ามาดูได้ซื้ออาหารไปเลี้ยงมันได้ โดยเฉพาะแพะที่นี่ น่ารักมาก แต่ก็น่าสงสารมากด้วย เพราะว่าพวกมันผอมมาก และก็ดูจะหิวโซมากๆ เวลาคนมาซื้อนมไปเพื่อที่จะป้อนมัน ยังไม่ทันที่จะเอาไปป้อนพวกมันเลย พวกมันก็เข้ามารุมขอกินนมแล้ว





การนำแหล่งเรียนรู้ไปใช้ในการเรียนการสอน

สามารถนำไปใช้สอนได้ทุกช่วงชั้นในรายวิชาชีววิทยา หรือ วิทยาศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ เพราะเป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เกร็ดความรู้ต่างๆเกี่ยวกับสัตว์ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และยังสามารถสอนเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมแก่นักเรียนได้ในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ป่าไม้ หรือธรรมชาติ เรื่องของความมีเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก เช่น การให้อาหารสัตว์ และการได้พานักเรียนมาศึกษานอกสถานที่ มาเห็นของจริงแบบนี้ จะทำให้นักเรียนมีความสนใจในวิชานั้นมากขึ้นด้วย

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

- ควรมีการจัดสถานที่อยู่ของสัตว์ให้มีความสะอาดมากกว่านี้ เนื่องจาก บางแห่งมีสิ่งปฏิกูลต่างๆอยู่มากเกินไป
- ไม่ควรปล่อยให้สัตว์หิวโหยจนเกินไป เพื่อที่จะให้คนมาดูซื้ออาหารเลี้ยงพวกมัน (สงสาร T^T)
- สวนสัตว์ควรมีความพร้อมในการให้เยี่ยมชมสัตว์บางชนิดมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าปิดปรับปรุงไปนานๆ เพราะบางคนก็มาที่นี่เพื่อจะดูสัตว์ชนิดนั้นโดยเฉพาะ

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สังเกตสื่อการสอนในโรงเรียน

โรงเรียนสมุทรปราการ  จ.สมุทรปราการ



สถานที่ตั้ง
เลขที่ 498  ถ.สุขุมวิท (กม.27)  ต.ปากน้ำ  อ.เมืองฯ  จ.สมุทรปราการ

อักษรย่อชื่อโรงเรียน  ส.ป.

สีประจำโรงเรียน  ฟ้า-เหลือง


สภาพปัจจุบัน  
โรงเรียนสมุทรปราการมีเนื้อที่ 17 ไร่ มีอาคารถาวร 9 หลัง จัดการเรียนการสอนเป็น 2 ช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 และช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 โดยจัดชั้นเรียนเป็นชั้นละ 12 ห้อง รวม 72 ห้องเรียน มีครู 117 คน พนักงานราชการ 1 คน นักการภารโรง 9 คน คนสวน 1 คน ยาม 3 คน พนักงานขับรถ 2 คน อัตราจ้าง 19 คน และมีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 3,313 คน


การสังเกตการสอนและการใช้สื่อการสอนในรายวิชาชีววิทยา 
ผู้สอน : คุณครูณฐินี มีสุข หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์


สื่อการเรียนการสอนที่ใช้และประโยชน์
ในคาบเรียนนี้ คุณครูณฐินีสอนนักเรียนเรื่อง DNA Fingerprint คุณครูจึงเลือกใช้สื่อการสอนเป็น powerpoint เพื่อที่คุณครูจะสามารถอธิบายเนื่อหาต่างๆได้อย่างละเอียดและช่วยให้นักเรียนเห็นภาพมากขึ้น เพราะ ถ้าคุณครูเขียนกระดานและอธิบายปากเปล่า นักเรียนอาจจะเข้าใจ แต่ก็จะมองไม่เห็นภาพของ DNA fingerprint


และในการเรียนการสอนคาบนี้ คุณครูณฐินียังให้นักเรียนได้ลองหาลายพิมพ์นิ้วมืออย่างง่ายๆดูด้วยตนเองภายในห้องเรียน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ก็จะมีผงคาร์บอน (จากไส้ดินสอนั่นเอง) และพู่กัน ในการหาลายพิมพ์นิ้วมือนั้นสามารถทำได้โดยนำผงคาร์บอนไปโรยที่ที่คิดว่าน่าจะมีรอยนิ้วมือติด จากนั้นก็ใช้พู่กันเกลี่ยผงคาร์บอนเบาๆจนเกิดเป็นรอยนิ้วมือขึ้น และใช้สก็อตเทปปิดทับเพื่อเก็บรอยนิ้วมือขึ้นมา









การให้นักเรียนได้ลองหาลายพิมพ์นิ้วมือดูด้วยตัวเอง จะช่วยให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการทดลอง และช่วยให้นักเรียนจดจำเนื้อหารายละเอียดในวิชาเรียนได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการดึงความสนใจจากนักเรียนของคุณครูด้วย เพราะคุณครูณฐินีบอกว่า ในวิชาชีววิทยานั้น คุณครูจะอธิบายไปตลอดทั้งคาบไม่ได้ ต้องมีการให้นักเรียนทำกิจกรรมโน่นนี่ด้วย นักเรียนจึงจะมีความสนใจในวิชาที่เรียนมากขึ้น

ปัญหาและอุปสรรค
การใช้สื่อการสอนแบบ powerpoint สามารถใช้ได้ในบางเนื้อหาเท่านั้น เช่น ถ้าเราสอนเรื่อง การถ่ายทอดหมู่เลือด ABO เราควรจะเขียนบนกระดานและอธิบายให้นักเรียนเข้าใจทีละขั้นๆถึงหลักการถ่ายทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูก เพื่อที่นักเรียนจะได้เข้าใจและเขียนหลักการถ่ายทอดได้ถูกต้อง เป็นต้น และการให้นักเรียนได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ อาจทำให้เสียเวลาในการสอนของคุณครูได้

ข้อเสนอแนะ
คุณครูควรมีผงคาร์บอนเตรียมไว้ให้นักเรียน เพื่อที่นักเรียนจะได้ไม่เสียเวลาในการขูดผงคาร์บอนจากไส้ดินสอ จะได้เป็นการประหยัดเวลาในการทำการทดลอง และคุณครูจะได้มีเวลาในการสอนมากขึ้น


วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นวัตกรรมทางการศึกษา

CAI  (Computer Assisted Instruction)



คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) หรือ ซีเอไอ (CAI) คือ การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอนโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้ผู้เรียนนำไปเรียนด้วยตนเองและเกิดการเรียนรู้

ในโปรแกรมประกอบไปด้วย เนื้อหาวิชา แบบฝึกหัด แบบทดสอบ ลักษณะของการนำเสนอ อาจมีทั้งตัวหนังสือ ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว สีหรือเสียง เพื่อดึงดูดให้ผู้เรียนเกิดความสนใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการแสดงผลการเรียนให้ทราบทันทีด้วยข้อมูลย้อนกลับ(Feedback) แก่ผู้เรียน และยังมีการจัดลำดับวิธีการสอนหรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละคน ทั้งนี้จะต้องมีการวางแผนการในการผลิตอย่างเป็นระบบในการนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเองยังมีลักษณะของสื่อที่เป็น “บทเรียนสำเร็จรูป” แต่เป็นบทเรียนสำเร็จรูปโดยการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์เป็นตัวกลางแทนสิ่งพิมพ์หรือสื่อประเภทต่าง ๆ ทำให้บทเรียนสำเร็จรูปในคอมพิวเตอร์มีศักยภาพเหนือกว่าบทเรียนสำเร็จรูปในรูปอื่น ๆทั้งหมดโดยเฉพาะมีความสามารถที่เกือบจะแทนครูที่เป็นมนุษย์ได้ มีขั้นตอนการสร้างและการพัฒนาบทเรียนเช่นเดียวกับบทเรียนสำเร็จรูปประเภทอื่น ๆ

ขั้นตอนการใช้งานบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)



ประโยชน์ของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)

1. คอมพิวเตอร์ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน เนื่องจากการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์นั้นเป็นประสบการณ์ที่แปลกและใหม่

2. การใช้สี ภาพลายเส้นที่แลดูคล้ายเคลื่อนไหว ตลอดจนเสียงดนตรี จะเป็นการเพิ่มความเหมือนจริงและเร้าใจผู้เรียนให้เกิดความอยากเรียนรู้ ทำแบบฝึกหัด หรือทำกิจกรรมต่าง ๆเหล่านี้ เป็นต้น

3. ความสามารถของหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยในการบันทึกคะแนนและพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้เรียนได้เพื่อใช้ในการวางแผนบทเรียนในขั้นต่อไปได้

4. ความสามารถในการเก็บข้อมูลของเครื่อง ทำให้สามารถนำมาใช้ได้ในลักษณะของการศึกษารายบุคคลได้เป็นอย่างดี โดยสามารถกำหนดบทเรียนให้แก่ผู้เรียนแต่ละคน และแสดงผลก้าวหน้าให้เห็นได้ทันที

5. ลักษณะของโปรแกรมบทเรียนที่ให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้เรียน เป็นการช่วยให้ผู้เรียนที่เรียนช้าสามารถเรียนไปได้ตามความสามารถของตนโดยสะดวกอย่างไม่รีบเร่งโดยไม่ต้องอายผู้อื่น และไม่ต้องอายเครื่องมือเมื่อตอบคำถามผิด

6. เป็นการช่วยขยายขีดความสามารถของผู้สอนในการควบคุมผู้เรียนได้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสามารถบรรจุข้อมูลได้ง่ายและสะดวกในการนำออกมาใช้


ที่มา : http://www.bankokyangschool.ac.th/cai.html